0504
บ้านต้นไม้เขางูเป็ดน้ำอาทิตย์
แสดงทั้งหมด

ตะแล้บแก๊ปรำลึกตอบ: 4, อ่าน: 2132

นี่เป็นจดหมายฉบับแรกในโครงการที่จะเขียนโต้ตอบกับน้องชอฯ (เลียนแบบ "คนจป.บนเส้นขนาน")
แต่ว่า เขียนค้างไว้นานเกินไปจนเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ก็เลยเอามาแปะที่นี่ซะดื้อๆ อย่างฉะนี้เลยแล

..ส่วน ตะแล้บแก๊ป เป็นคำที่คนไทยโบราณใช้เรียกโทรเลข
โดยเอาคำว่า telegraph มาผสมกับเสียงแก๊ปๆๆ ของมันนั่นเอง (อย่าเพิ่งเชื่อ!)



ห้อง 1408 เดือนเด่นอพาร์ตเมนท์
ซ.สมประสงค์ร่วม ถ.ราชปรารภ
แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400



วันที่ ไม่มีโทรเลข


เดียร์คุณน้องชอฯ

    ขึ้นต้นจดหมายฉบับแรกก็เอาซะเป็นทางการเลยเชียว เพราะอยากจะโชว์ว่าเราเขียนจดหมายให้ถูกแบบฟอร์มก็เป็นนะ - เรื่องของเรื่องไม่ใช่อะไร กำลังสนใจกระแส "ความอาลัย" ในการจากไปของระบบสื่อสารด้วยโทรเลขในประเทศไทย ของเหล่าผู้ใหญ่แนวทั้งหลายในตอนนี้ อยู่เหมือนกัน - คิดดูสิครับคุณน้อง ปลายเดือนที่แล้ว (เมษายน) ไม่ว่าจะหันไปทางไหน จะอ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี หรือเปิดอ่านบล็อกต่างๆ ในโลกอินเตอร์เน็ต เป็นต้องได้เจอแต่คำว่าโทรเลขๆๆๆ กันจนเลี่ยนเลย แล้วจะไม่ให้พี่นวยขอมีเอี่ยวกับเรื่องนี้บ้างได้ยังไงเนอะ เราก็แนวเหมือนกันนะเฟร่ย! (ถึงจะช้ากว่าชาวบ้านไปเดือนนึงก็ตาม.. 555)


– 1 –

    มานั่งคิดดูดีๆ โทรเลขก็มีหลักการเหมือนส่งจดหมายนั่นแหละเนอะ เพียงแต่แทนที่จะเคลื่อนย้ายตัวกระดาษและซองนั้นไปยังปลายทาง ก็ส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปยังปลายทางแทน ซึ่งจะไวกว่ามาก เรียกว่ากดปุ่มปุ๊บปลายทางก็ได้ยินเสียงปั๊บเลย (คนคิดนี่เจ๋งจริงๆ) ..โดยรหัสที่ใช้ส่งแทนตัวอักษรก็คือรหัสมอร์ส อักขระภาษาอังกฤษถูกกำหนดโดยมอร์ส (คนที่คิดระบบโทรเลขนั่นแหละ) ส่วนภาษาไทยใครเป็นกำหนดก็ไม่รู้ ..อยากจะส่งคำว่าอะไรก็เคาะๆ เรียงกันไปทีละอักษร พอปลายทางนั่งฟังรหัส ทั้งชื่อผู้ส่ง ชื่อ-ที่อยู่ผู้รับ และตัวข้อความแล้ว ก็จะแปลเป็นภาษามนุษย์ลงในกระดาษ และให้บุรุษไปรษณีย์นำไปส่งถึงบ้านในลำดับถัดไป ไม่ต้องรอกันข้ามวันข้ามคืนเหมือนกับการส่งจดหมาย.. (แต่ตัวข้อความในโทรเลขนี่สิ มักจะถูกย่นย่อ บีบแล้วบีบอีก จนสั้นกว่าชื่อที่อยู่อีกแน่ะ เพราะเขาคิดค่าธรรมเนียมตามจำนวนคำ ซึ่งรู้สึกว่าปัจจุบันจะอยู่ที่คำละ 1 บาท)

    ตอนที่ได้ข่าวเรื่องนี้ครั้งแรกก็ให้รู้สึกเสียดาย และใจหายอยู่เหมือนกัน ด้วยความที่เคยอาศัยและโฉบไปมาอยู่แถว (ที่ทำการ) "ไปรษณีย์กลาง" เกือบยี่สิบปี แถมเมื่อคราววิชาภาษาไทยชั้นประถม ที่ต้องฝึกเขียนและส่งโทรเลขกับธนาณัติ คุณพี่ก็ยังได้รับมอบหมายจากคุณครูให้ไปหยิบแบบฟอร์มจากที่ทำการไปรษณีย์ "สำนักงานใหญ่" แห่งนี้อยู่เนืองๆ (ซึ่งเป็นการหยิบด้วยใจตุ๊มๆ ต่อมๆ เพราะกลัวอายถ้าพี่พนักงาน เอ้อ!..ต้องเรียกว่าเจ้าหน้าที่สิ.. เข้ามาถามว่าหยิบไปเล่นหรือไร เอาซะเป็นปึกขนาดนั้น) ดังนั้นมันก็รู้สึกผูกพันอยู่ ..นี่ห่วงว่าหลังจากยกเลิกโทรเลขไปแล้วรุ่นลูกรุ่นหลานก็คงจะไม่รู้จัก หรืออาจจะแค่เคยได้ยินเท่านั้นเอง เพราะโทรเลขได้ถูกย้ายตัวตนจากในแบบเรียนวิชาภาษาไทยไปอยู่ในวิชาประวัติศาสตร์แทน เหมือนกับที่คำศัพท์และไวยากรณ์หลายอย่างถูกย้ายล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

    แต่เมื่อมานั่งคิดถึงเหตุผลของทางผู้ให้บริการ ก็ควรเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น เหตุผลก็คือปัจจุบันมีทั้งระบบโทรศัพท์ และโทรศัพท์มือถือ เข้ามาแทนที่โทรเลขตั้งนานแล้ว ยิ่งการสื่อสารแบบใหม่เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น การสื่อสารแบบเก่าก็ยิ่งหมดความจำเป็นลง จากที่เคยมียอดโทรเลขทั่วประเทศวันละเป็นแสนฉบับ ก็ลดเหลือเพียงวันละร้อยฉบับ จนกระทั่งมาถึงวันที่ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบโครงข่ายโทรเลข มันสูงกว่ารายรับจากค่าบริการ เป็นแบบนี้ต่อให้มีความผูกพันแค่ไหนก็คงจำต้องสิ้นสุดการให้บริการนั่นแหละเนอะ..

    โอเค! ความจำเป็นก็ส่วนความจำเป็น แต่ความผูกพันก็ส่วนความผูกพัน ทางบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด (ที่ไม่ได้เป็นกรมไปรษณีย์แล้ว) จึงไม่ลังเลที่จะจัดงานอำลาอาลัยโทรเลขไทยขึ้นที่ไปรษณีย์กลาง เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ..และพี่นวยเองก็ไม่ยอมพลาดโอกาสไปชมงานกับเขาด้วยอย่างแน่นอน เอ่อ..ไม่รู้ว่าคุณน้องชอฯ ได้ไปงานนี้ด้วยหรือเปล่า เอาเป็นว่าขอเล่าเผื่อไปเลยก็แล้วกันนะ

    น่าชื่นใจเหมือนกัน ว่านอกจากโลโก้ของไปรษณีย์ไทยที่ได้รับการเปลี่ยนแบบให้ทันสมัยเอาใจวัยรุ่นยุคนี้แล้ว บรรยากาศอื่นทุกอย่างของไปรษณีย์กลางล้วนถูกคงสภาพเอาไว้ แทบไม่เปลี่ยนไปจากในอดีตเลยสักนิด เรียกว่าคลาสสิคยังไงก็อย่างงั้น.. มันทำให้พี่นวยหวนระลึกความทรงจำสมัยประถมได้อย่างเห็นภาพชัดเจนเลย ตอนเย็นหลังเลิกเรียนเดินกลับบ้านต้องผ่านไปรษณีย์กลาง ก็จะแวะซื้อผลไม้แช่เย็นจากรถเข็น 10 บาท (ซึ่งมักจะเป็นชมพู่) มานั่งพักที่ขอบรั้ว ลมพัดสบายๆ ก็ค่อยๆ เล็มไป ชมบรรยากาศอันสุดคลาสสิคไป พอหายเหนื่อยได้ที่แล้วจึงค่อยเดินต่อ ..มาพูดตอนนี้เลยชักเห็นว่าไอ้เรานี่มีอารมณ์ศิลปินตั้งแต่เด็กเลยวุ้ย!

    แปลกดีนะครับ ไม่ว่าราคาหมู ราคาข้าว ราคาน้ำตาล อะไรก็แล้วแต่ จะขึ้นเอาๆ มากี่ยุคสมัย ผลผลิตทางการเกษตรอย่างเดียวในประเทศที่ราคาตกเอาๆ ก็คือผลไม้ เรียกว่าเงินที่เคยซื้อผลไม้ได้นิดเดียวก็กลายเป็นซื้อได้มากขึ้นเป็นกิโลๆ ผลไม้รถเข็นก็ขายอยู่ที่ราคา 10 บาทได้ตลอดกาล โดยไม่ต้องเป็นเดือดเป็นร้อนตั้งสมาพันธ์คนขายผลไม้รถเข็น เพื่อไปต่อรองขอขึ้นราคากับกระทรวงพาณิชย์.. ก็เห็นเขาอยู่กันได้สบายดีเหมือนเดิม เผลอๆ กำไรมากขึนด้วย (เลยสงสัยว่า คนที่ลำบากน่าจะเป็นชาวสวนที่ปลูกผลไม้ ที่ดันดินดีน้ำดีจนผลผลิตแข่งกันออกมาทะลักตลาดแบบนี้ซะมากกว่า)


– 2 –

    กลับมาที่ไปรษณีย์กลางของเราต่อดีกว่าจ่ะ..

    ภายในงานอำลาโทรเลขนี้มีข้อมูลหลายๆ อย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งจากนิทรรศการที่จัดแสดงไว้โดยรอบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากไมตรีของคุณพี่ไปรษณีย์ (เราเรียกกันแบบนี้มานมนาน เผลอๆ อาจมีใครนึกว่าเป็นชื่อเขาก็ได้นะ..) ที่ยืนตอบข้อสงสัยของชาวเราได้อย่างไม่รู้เหนื่อย แถมยังสาธิตการส่งและรับข้อมูลโทรเลข โดยนั่งกดรหัสมอร์สวิ่งผ่านสายทองแดง ดิท-ดิท-ดา-ดา กันจะจะ ชนิดที่สะกดความสนใจจากผู้เข้าชมได้เป็นตาเดียวเลยเจียวล่ะ (ดิท = จุด = เคาะสั้น, ดา = ขีด = กดยาว)

    ข้อมูลที่น่าสนใจก็เช่น ระบบโทรเลขในประเทศไทยเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2418 นับจนปัจจุบันก็ได้ 133 ปีแล้ว / เสาโทรเลขมีลักษณะเป็นเสาปูนสี่เหลี่ยมเตี้ยๆ สูงกว่าตัวคนไม่เท่าไร และสายส่งข้อมูลก็ดูบอบบางเหลือเกินจนน่าสงสัยว่าดูแลรักษาให้ใช้งานกันมาตลอดได้อย่างไร / แต่ถึงอย่างไรโครงข่ายโทรเลขก็เข้าไปถึง.. "เรียกว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทยจริงๆ" เพราะอาศัยคนเดินทางเข้าไปส่งด้วย จะขึ้นเขาลงห้วยบุกป่าก็ฝ่าไปได้นะเออ (คือสัญญาณโทรศัพท์ไปไม่ถึงแต่คนไปถึงอ่ะ แน่กว่า!) / แม้ปัจจุบันก็ยังคงมีพื้นที่ที่ยังต้องอาศัยจดหมายกับโทรเลขอยู่ คือตามหุบเขาทางภาคเหนือเช่นจังหวัดเชียงราย โดย "ไปรษณีย์ชาวบ้าน" จะเป็นผู้เดินทางนำสารเข้าไปส่งยังปลายทางด้วยตนเอง ..เมื่อมายกเลิกบริการโทรเลขเสียแบบนี้แล้วก็เท่ากับเป็นการลดความสะดวก (แต่คงไม่ถึงกับตัดขาด) ในการสื่อสารเข้าไปอีก แต่ด้วยความจำเป็นทางธุรกิจอย่างที่ว่า จึงจำต้องทำ!

    ผู้ใหญ่เขาคุยให้ฟังว่าโทรเลขมักเป็นสื่อที่นำพาข่าวไม่พึงประสงค์อยู่เสมอๆ ในสมัยก่อนที่ระบบโทรศัพท์ยังไปไม่ทั่วถึง การส่งข่าวกันทางจดหมายมักจะเป็นการถามไถ่ บอกเล่าสารทุกข์สุกดิบ หรือถ้าเป็นการแจ้งข่าวดีก็มักไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบรับทราบ รอสักสามสี่วันก็ไม่เป็นไร ผิดกับข่าวร้ายที่มักจะต้องแจ้งกันด่วน ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องล้มป่วยหนัก เสียชีวิต หรือแม้แต่ข้อความยอดฮิต "เงินหมด ส่งมาด่วน" ก็จัดอยู่ในหมวดข่าวด่วนข่าวร้ายที่ต้องอาศัยโทรเลขช่วยทำเวลาเช่นกัน ส่งปุ๊บถึงปลายทางปั๊บ (พี่ไปรษณีย์บอกว่า ส่งแบบด่วนพิเศษจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มจะส่งให้ไวยิ่งขึ้นอีก ถ้าส่งแบบธรรมดาก็ต่อคิวกันตามปกติ) จึงไม่แปลกที่คนยุคก่อนจะเกิดอาการวิตก เมื่อบุรุษไปรษณีย์ตะโกนบอกว่ามีโทรเลขมาส่ง.. เหมือนกับเป็นสัญญาณบอกให้เตรียมทำใจ อะไรทำนองนั้น

    ในการรับส่งสัญญาณโทรเลข หลังจากสิ้นสุดสัญญาณว่าจบข้อความทั้งหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ส่งและผู้รับจำเป็นจะต้องทำการ "สอบทาน" กันซ้ำเฉพาะข้อความสำคัญอีกเที่ยวหนึ่งด้วย กันพลาด! เช่นตัวเลขนั้นมัน 5000 หรือ 50000 กันแน่.. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางครั้งการผิดพลาดไม่กี่อักษรก็ทำให้เกิดความเสียหายมากมายได้ เช่น "พ่อหายแล้ว" กลายเป็น "พ่อตายแล้ว" (เออนะ.. ผิดแบบนี้ต้องเรียกว่า แหมทำไปได้!) แต่พี่นวยคิดว่าปัจจุบันคงไม่เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดแบบนี้แล้วมั้ง เพราะที่ทำการไปรษณีย์ควรจะอาศัยโทรศัพท์ถึงกันเพื่อบอกข้อความให้จดเอาเลยแหละ จะง่ายที่สุด.. (หงิ่ว!)

    เอ๊ะ! แล้วทำไมคนที่มาส่งโทรเลขไม่โทรศัพท์ซะเองเล่า ยังจะมาส่งเป็นโทรเลขกันทำไม? อันนี้คุณน้องคงจะสงสัย ซึ่งคุณพี่ก็ได้ถามความจากพี่ไปรษณีย์มาเรียบร้อยแล้ว

    คือมันก็ตลกดีเหมือนกัน โทรเลขในทุกวันนี้ (ที่ว่าทั่วประเทศมีอยู่วันละร้อยฉบับเนี่ย) ยังคงบรรจุข่าวร้ายอยู่เหมือนเดิม แต่ผู้มาใช้บริการไม่ใช่ประชาชนคนธรรมดา กลับเป็นธนาคารและบริษัทเครดิตเงินกู้ทั้งหลาย.. ส่วนข้อความยอดฮิตของทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ "เงินหมด ส่งมาด่วน" แต่กลายเป็น "ครบกำหนดชำระหนี้" ไปซะอย่างงั้น.. พี่ไปรษณีย์ไขข้อข้องใจให้ฟังว่า ตามกฎหมายถ้าหากลูกหนี้ไม่รับทราบการแจ้งหนี้ก็อาจอ้างเป็นเหตุผลในการเบี้ยวได้ ดังนั้นสำหรับลูกหนี้ที่ปิดโทรศัพท์หนี หรือส่งจดหมายไปแล้วอ้างว่าไม่ได้รับ ก็จะต้องใช้มุขส่งโทรเลข เพราะไม่น่าจะมีใครไหวตัวทัน (ว่าเดี๋ยวนี้จะแจ้งหนี้กันในช่องทางประหลาดแบบนี้) แถมบุรุษไปรษณีย์ที่นำข้อความไปส่ง ก็ยังช่วยเป็นพยานยืนยันได้อีกว่าลูกหนี้รับทราบข้อความแล้ว หากเบี้ยวอีกทีนี้ก็สามารถไปฟ้องศาลได้ละ!


– 3 –

    เห็นคนไปใช้บริการส่งโทรเลขถึงญาติมิตร หรือถึงตนเองเป็นที่ระลึก กันเนืองแน่น พี่นวยก็ชักเริ่มไม่แน่ใจว่านี่มันงานอำลาโทรเลขหรืองานเปิดตัวโทรเลขกันแน่ เพราะเผลอๆ เกินกว่าครึ่งของผู้ใช้บริการเหล่านี้ น่าจะเพิ่งเคยใช้บริการครั้งสุดท้ายนี้เป็นครั้งแรกด้วย! และเริ่มสงสัยว่าจะมีสักกี่คนที่รู้สึกเสียดายการยกเลิกระบบโทรเลขอย่างพี่นวยบ้างก็ไม่รู้

    จึงเป็นที่มาของปัญหาที่น่าขบคิดก็คือ เราจะช่วยกันทำอย่างไรได้ไหม เพื่อให้อะไรก็ตามที่เป็นประวัติศาสตร์ของชาติเราเองเนี่ย ไม่ถูกจำกัดความผูกพันให้อยู่แต่ในวงคนแก่เท่านั้น.. ทำอย่างไรให้เด็กๆ รุ่นหลังจากนี้รู้ซึ้งและภูมิใจในความเป็นเรา ("เรา" ที่หมายถึง "ไทย" อ่ะนะ) ในอดีตได้ด้วย.. ไม่ต้องย้อนไปมาก ขอแค่ไม่กี่สิบปีก็ยังน่าคิดเลยว่าจะทำได้ไหม.. ตอนนี้ดูเหมือนคนรุ่นใครก็รุ่นมัน ไม่ค่อยมีใครสนใจอะไรที่มาก่อนหรือหลังรุ่นตัวเองสักเท่าไหร่เลย ทั้งที่ถ้าตัวเองหลุดไปเกิดยุคอื่นก็คงผูกพันและรักในสิ่งเหล่านั้นนั่นแหละ แต่ไปยึดติดกับเหตุผลที่ตัวเองปั้นขึ้นมาขังตัวเอง คือไอ้สิ่งที่มาก่อนยุคเรานั้นมันช่างเชย และไอ้ที่มาทีหลังมันก็ไม่ดีเท่ายุคเรา เพียงเท่านั้นเอง..

    ถ้าจะเลือกระบบการสื่อสารสักอย่าง ที่อยู่ยงคงกระพัน ไม่มีทีท่าว่าจะล้มตาย และผูกพันได้กับไทยทุกวัย คงจะหนีไม่พ้น "โทรทัศน์" นั่นล่ะครับคุณน้อง ..แต่ว่า ในยุคสมัยนี้ที่รายการข่าวในโทรทัศน์ไม่มีอะไรชวนให้เจริญใจเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะข่าวการเมืองที่ดูทีไรเป็นต้องชวนคลื่นเหียนทุกทีไป (แถมยังมีทีท่าว่าจะเกิดการจัดเรทติ้งภาพยนตร์ให้มันยิ่งแห้งเหี่ยวไปกว่าเดิมอีกซะด้วย) การที่เราจะพบว่าตัวเองกำลังนั่งจ๋องดูรายการเรียลลิตี้ ประเภทอะคาเดมี่แฟนตาเซีย โดยไม่เคยคิดตั้งใจจะดูมาก่อน แต่แค่เพราะมันไม่มีอะไรให้เลือกมากไปกว่านี้อีกแล้ว ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป..

    และการนั่งดูอคาเดมี่ตอนกลางคืนดึกๆ มาเป็นเวลาหลายคืนติดกัน (เห็นแต่ผีหน้าขาวเต็มไปหมด พาให้สงสัยว่าไอ้การถ่ายทอดทั้งวันทั้งคืนมันสนุกและน่าเฝ้าดูตรงไหน.. แล้วใครไปบังคับให้พวกเอ็งโบ๊ะหน้ากันไม่เว้นแม้แต่ผู้ชายอย่างงี้วะ) ก็ทำให้พี่นวยพบทางออกของความคิดอย่างนึงว่า "เออ..นี่ถ้าไม่เปิดให้โหวตเอเอฟทางโทรศัพท์มือถือ แต่เปลี่ยนมาโหวตได้เฉพาะทางโทรเลขเท่านั้น ก็คงจะมันส์ดีไม่หยอก!" ทุกวันเราคงจะได้เห็นเด็กๆ และบรรดาแม่ยกไปยืนต่อแถวที่ไปรษณีย์กัน ยาวเหยียดกว่าคิวในธนาคาร และคงจะช่วยต่ออายุของโทรเลขไปได้อีกยาวเลย.. นี่ล่ะมั้งคำตอบของการประนีประนอมหลอมรวมวัฒนธรรมชาวไทยสองยุคอย่างแท้จริง :]

==========================================================

อย่าเพิ่งเชื่อ! : คำที่จำเป็นที่สุด และมีรหัสที่จำง่ายที่สุด ในภาษามอร์ส ก็คือ SOS
ซึ่งไม่ได้แปลว่า 505 (หงิ่ว!) ..แต่ย่อมาจาก "Save Our Souls" หรือ "ขอความช่วยเหลือด่วน"
ถ้าสังเกตปกอัลบั้ม Live Earth ก็จะเห็นรหัสมอร์สของคำนี้อยู่ด้วย นั่นคือ  ⋅ ⋅ ⋅  – – –  ⋅ ⋅ ⋅
(Live Earth คือการแสดงดนตรีช่วยโลกร้อน จากศิลปินทั่วโลกพร้อมกันเมื่อวันที่ 07.07.07)

นวย 23/07/2008 22:45 
โห...เหงื่อตก ตอนอ่านก็มันดีอยู่หรอกค่ะ แต่พอรู้ว่าตอนแรกเรื่องนี้ถูกวางตำแหน่งไว้เป็น 'จดหมายฉบับแรก' หนูก็แอบอยากจะหักหลังให้มันรู้แล้วรู้รอดตั้งแต่ตอนนี้เลย 555

อ่านเรื่องนี้แล้วก็แอบเซ็ง คือ หนูเรื่องโทรเลขเอาตอนบ่ายวันสุดท้ายที่เค้ายังส่งโทรเลขกันได้ แถมรู้ตอนที่ตัวเองต้องทำอะไรซักอย่าง ไม่สามารถไปไปรษณีย์ได้ และต่อให้ไปได้ ก็ไม่น่าจะได้ส่งอยู่ดี เพราะแถวยาวเหยียดมาตั้งแต่เช้า ไม่เข้าใจเหมือนกันค่ะวันตอนนั้นเราไปมุดหัวอยู่ที่ไหน T_T

อีกเรื่องที่เพิ่งรู้ก็คือ เค้ายังส่งโทรเลขด้วยสายโทรเลขอยู่อีกหรอเนี่ย
หลงนึกว่าเค้าส่งผ่านอินเทอร์เน็ต/โทรศัพท์ตั้งนานแล้วซะอีก
ส่วนเรื่องโทรเลขทวงหนี้นี่เด็ดมากเลยค่ะ เหนือความคาดหมายสุดๆ

แต่ว่า เรื่องนี้ฮามากเลยค่ะ

>>ตอนเย็นหลังเลิกเรียนเดินกลับบ้านต้องผ่านไปรษณีย์กลาง
ก็จะแวะซื้อผลไม้แช่เย็นจากรถเข็น 10 บาท (ซึ่งมักจะเป็นชมพู่)

แสดงว่าพี่นวยมีญาณหยั่งรู้แต่เด็ก เลยกินชมพู่ข่มนามไว้แต่เนิ่นๆ เลย
แต่สงสัยจะยังกินไม่มากพอ พี่แกเลยมาเป็นนายกำมะลอข่มเราอยู่อย่างทุกวันนี้

ป.ล. ขอบคุณคำว่า รหัสมอร์ส ด้วยค่ะ กำลังหาอยู่เลย
ป.ล.2 วันนี้เพิ่งเขียน postcard ไปหย่อนลงตู้ไปรณีย์พอดีเลยค่ะ
ป.ล.3 (อันนี้ไม่เกี่ยว) วันนี้แวะไปห้องสมุดของกทม.ตรงสามเหลี่ยมดินแดง
ตรงชั้นหนังสือคู่มือ ไม่เห็นมีหนังสือพี่นวยเลย เอาไปวางซักเล่มสิคะ :)
Shauฯ 24/07/2008 19:59  [ 1 ] 
มาแก้ค่ะ เขียนผิดๆ ห้องสมุดอยู่ตรงข้ามสวนสันติภาพ ไม่ใช่ตรงสามเหลี่ยมดินแดง
Shauฯ 25/07/2008 12:33  [ 2 ] 
>> แต่พอรู้ว่าตอนแรกเรื่องนี้ถูกวางตำแหน่งไว้เป็น 'จดหมายฉบับแรก'
>> หนูก็แอบอยากจะหักหลังให้มันรู้แล้วรู้รอดตั้งแต่ตอนนี้เลย 555

อ้าวทำไมอย่างงั้น ..งงเล็กน้อย ..จะว่าตอบยากก็ไม่น่ายากนี่หน่า
ตามที่เขียนมา คุณน้องก็อาจจะตอบเรื่องเอเอฟ หรือทีวี หรือผลไม้ หรือยกเรื่องอื่นเลยก็ได้
เอ๊ะหรือว่าเรื่องไม่น่าสนใจพอ หรือว่าเขียนงุนงงเกินไปรึเปล่า..

>> ส่วนเรื่องโทรเลขทวงหนี้นี่เด็ดมากเลยค่ะ เหนือความคาดหมายสุดๆ

ถ้าระบบโทรเลขไม่ถูกยกเลิก เค้าก็คงยังไม่ยอมเปิดเผย.. 555

>> วันนี้เพิ่งเขียน postcard ไปหย่อนลงตู้ไปรณีย์พอดีเลยค่ะ

อันนี้ก็งงเช่นกัน

>> แวะไปห้องสมุดของกทม. ตรงชั้นหนังสือคู่มือ ไม่เห็นมีหนังสือพี่นวยเลย
>> เอาไปวางซักเล่มสิคะ

น่าสนใจมากๆ จ่ะ เคยเดินผ่านแล้วรู้สึกว่าหรูหราอลังการจังเลยที่นี่ น่าเข้าไปนั่งมาก :]
ตอนนี้หนังสือในมือหมดเกลี้ยงจ่ะ รอให้มีโอกาสได้หนังสือมาก่อนแล้วจะเอาไปวางด่วนเลย
(ถ้าเค้าไม่รับ จะแกล้งทำเป็นลืมทิ้งไว้..บนชั้น 5555)
นวย 30/07/2008 22:52  [ 3 ] 
>>เอ๊ะหรือว่าเรื่องไม่น่าสนใจพอ หรือว่าเขียนงุนงงเกินไปรึเปล่า.

เปล่าค่ะ แค่รู้สึกว่า ทำไมเราไม่เห็นเขียนอะไรได้ดีๆ ขนาดนี้มั่งเลย

>>>> วันนี้เพิ่งเขียน postcard ไปหย่อนลงตู้ไปรณีย์พอดีเลยค่ะ
>>อันนี้ก็งงเช่นกัน

หมายถึงว่า เพิ่งทำอะไรเกี่ยวกับไปรษณีย์มาก็มาอ่านเรื่องเกี่ยวกะปณ.อีกแล้ว
ที่บังเอิญ(อีกรอบ) ก็คือ วันนี้ก็กำลังจะเอา postcard อีกใบไปหย่อนลงตู้อีกแล้วค่ะ

>> น่าสนใจมากๆ จ่ะ เคยเดินผ่านแล้วรู้สึกว่าหรูหราอลังการจังเลยที่นี่ น่าเข้าไปนั่งมาก :]
สถานที่ดูดีค่ะ แต่หนังสือมีน้อยไปหน่อย
แต่ก็ยังดีที่มีหนังสือใหม่ๆ และหนังสือที่น่าสนใจปนอยู่ด้วย
ไม่ได้มีแต่หนังสือเก่าๆ เหลือๆ ทิ้งๆ แบบห้องสมุดประชาชนทั่วไปที่เคยเห็นมา
Shauฯ 31/07/2008 19:05  [ 4 ] 
สามารถใส่ html tag โดยใช้เครื่องหมาย { } แทน < >      
ความเห็น : 
จาก : : รหัส
(อีเมล/เว็บไซต์) : อัพโหลดรูป/ไฟล์
ถ้าไม่มีรหัสประจำตัว กรุณาใส่ "เลขหนึ่งสี่ตัว" ด้วยครับ