0452
ขอ The Beatles ซักวันเหอะ (น่า)
แสดงทั้งหมด

ว่ากันเรื่องเพลง (5) : วงการเพลงไทย สองตอบ: 5, อ่าน: 3569

หยุดพักเรื่องนี้ไปตั้ง 5 เดือน จนกระทั่งลืมไปซะสนิทเลยครับว่ายังเขียนไม่จบ..
ความเดิมตอนที่แล้ว ก็เป็นการสรุปยุคเพลงไทยจากประเภทสื่อบันทึกเสียงครับ
(โดยไปหาข้อมูลเชิงเทคนิค+กลไกต่างๆ มาประกอบเป็นความรู้ด้วย
แต่ห้ามใช้อ้างอิง เพราะเขียนจากความเข้าใจ, ความจำอันเลือนลาง, ผสมๆ นั่งเทียน!)

----------------------------------------------------------

ว่ากันไปแล้ว 2 ยุคด้วยกัน คือ..

(1) ยุคแผ่นเสียงไวนิล (vinyl record)
ในเมืองไทยก็เริ่มจากอดีตอย่างน้อย 50-60 ปีก่อนนู้น (จากอายุของวงสุนทราภรณ์)
แต่ถ้าพูดถึงเฉพาะเพลงไทยสากล (หรือเรียกว่าวงสตริง) วงแรกที่มีการบันทึกเสียง
ก็คงต้องยกเครดิตให้กับวง ดิอิมพอสสิเบิ้ลส์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ถึง 2519 ครับ
และมีการบันทึกเป็นแผ่นเสียงกันเรื่อยมา จนถึง 10 กว่าปีก่อน ยุคพี่เจ ทาทา มอส..
ปัจจุบันในเมืองไทยไม่มีการผลิตแผ่นเสียงแล้ว
ส่วนที่เมืองนอกยังมีการผลิตบ้าง สำหรับผู้สะสม และบรรดาดีเจ-สแครชแผ่น

ป.ล. สำหรับดีเจสแครชแผ่น ยังพอจะเข้าใจได้ว่า เทปกับซีดีมันสแครชไม่ได้
(ถึงแม้ซีดีจะเป็นแผ่นๆ กลมๆ เหมือนกัน แต่มันเล่นถอยกลับไปกลับมาไม่ได้ครับ)
แต่สำหรับผู้สะสมแผ่นเสียง หรือเรียกว่า "นักเล่นแผ่นเสียง" เนี่ย
เขาก็ให้เหตุผลของการสะสมกันว่าอย่างนี้ครับ..
--> ก็คือคือกับการสะสมของเก่านั่นแหละ.. เทปกับซีดีมันใหม่เกินไป ไม่คลาสสิค
--> ฟังเสียงเพลงจากเนื้อแผ่นเสียงแล้วให้อารมณ์กว่า (มีเสียงปุปุ) + มีมวลกว่า,
ส่วนซีดีเนี่ย มันเสียงชัด+ใสกิ๊ก เกินไป..
(ที่จริงแผ่นเสียงที่ออกมาในปัจจุบัน ผู้ผลิตเขาก็เอาต้นฉบับเดียวกับที่ใช้ทำซีดี
นี่แหละครับ ไปถ่ายลงแผ่นเสียง..)

(2) ยุคเทปคาสเซ็ต (cassette tape) -- ภาษาราชการเรียกว่า "แถบบันทึกเสียง"
ยุคแรกก็เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่มีการบันทึกเพลงสตริงลงแผ่นเสียง
(นั่นคือช่วงปี 251x) และเทปคาสเซ็ตก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและแรงมากๆ
เพราะมันเล็ก เก็บง่าย สะดวก, เครื่องเล่นก็เล็กกระทัดรัด และราคาเทปก็ไม่แพง
(สิบกว่าปีถัดมา ก็มีเครื่องเล่นเทปแบบพกพาออกมาจาก บ.โซนี่.. และคงต้องขอย้ำว่า
จุดนั้นเอง เป็นการเริ่มต้นพฤติกรรมฟังเพลงไม่เลือกที่ของมนุษย์อย่างทุกวันนี้)

ข้อมูลในคราวที่แล้ว (เดือน ก.ค.) ผมบอกว่า ในเมืองไทย ค่ายใหญ่ๆ ยังคงผลิตเทปอยู่
(แต่เป็นเฉพาะบางอัลบั้มที่คิดว่าขายได้ทั่วประเทศจริงๆ อ่ะนะครับ) เช่น GMM, RS, ...
ส่วนค่ายเล็กๆ เลิกผลิตเทปไปตั้งแต่ปี 2545 แล้ว.. (ผลิตเฉพาะ CD)
ก็ปรากฏว่าเวลาผ่านมาถึงวันนี้ เดือน ธ.ค. ต้องประกาศใหม่อย่างชัดถ้อยชัดคำไปเลยครับ
ว่าไม่มีอัลบั้ม (เพลงไทยสากล) ใด ที่ผลิตเป็นเทปคาสเซ็ตอีกต่อไปแล้ว!
ลองดูโฆษณาขายของในทีวีของแกรมมี่ อาร์เอส สิครับ..
ไม่นานมานี้ยังเคยพูดว่า "ทั้งเทป, ซีดี, และวีซีดีคาราโอเกะ" อยู่เลย
มาถึงช่วงนี้เหลือแค่ 2 อย่างแล้ว.. (ซีดี/วีซีดี)

----------------------------------------------------------

..เอาล่ะ จบจากการรื้อฟื้น ตอนนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาพูดถึงยุคต่อๆ ไปกัน
เพราะค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า นาทีนี้คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเข้าสู่ยุคที่ 4 พอดี เลยครับ..
ก่อนไปยุคที่ 4 (คือยุคอะไรเดาใจผมถูกไหม?).. ก็ต้องพูดกันเรื่องยุคที่ 3 ก่อน

(3) ยุคแผ่นคอมแพคดิสก์ (compact disc หรือย่อๆ ว่า CD)
-- ภาษาราชการเรียกว่าอะไรไม่แน่ใจ ถ้าให้แปลเอง ขอเป็น "จานเสียงกระจิริด" ละกัน!

แผ่นซีดีเป็นสื่อบันทึกข้อมูลที่พัฒนามาจากแผ่นฟลอปปี้ดิสก์ในคอมพิวเตอร์ครับ
ครั้นจะไปขุดหาข้อมูลวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์มาโม้ ก็คงใช่ที่.. (และขี้เกียจหาด้วย)
สั้นๆ ก็คือ แผ่นซีดีเป็นสื่อที่บันทึกข้อมูลในแบบดิจิตอล ลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกกลมแบน
โดยข้อมูลจะถูกใส่ไว้เป็นเกลียวหมุนจากตรงกลางออกมาด้านนอก (เหมือนแผ่นเสียง)
ซึ่งข้อมูลที่เราพูดถึงนี้จะเป็นอะไรก็ได้.. ข้อความ ภาพ เสียง วีดิโอ ..ขอให้เป็นดิจิตอลก็โอเค
และก็มี 2 ขนาดเหมือนแผ่นเสียงด้วยครับ สังเกตได้จากขนาดหลุมที่ถาดในเครื่องอ่าน
ขนาดใหญ่ปกติ จะจุข้อมูลได้ปริมาณมากถึง 650-700 MB
(ระยะห่างระหว่างวงรอบยิ่งน้อย ยิ่งเบียด ก็ยิ่งจุข้อมูลได้เยอะ)
ส่วนขนาดเล็ก หรือเรียกว่า mini CD นั้น จุได้ประมาณ 180 MB

แผ่นซีดีทั่วไปอ่านได้ด้านเดียว ไม่มีการพลิกด้านเหมือนแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซ็ต
โดยเอาด้านที่โปร่งใส เห็นชั้นข้อมูลสีเงินๆ คว่ำลงบนถาด แล้วก็กดปุ่มดูดเข้าเครื่องกันไป
(หรือบางเครื่องก็เป็นแบบฝาพับเปิด-ปิด ก็ให้เอาแผ่นคว่ำลงไปที่ตัวล็อค แล้วปิดฝา)
ซึ่งเครื่องอ่าน (เครื่องเล่น) ก็ยังใช้หลักการเดียวกับแผ่นเสียง คืออ่านโดยหมุนแผ่นไปเรื่อยๆ
และหัวอ่านก็วางจ่อไว้ที่ตำแหน่งเดิม ค่อยๆ เขยิบออกตามแนวรัศมีจากกลางแผ่นถึงขอบแผ่น
แต่ระบบที่ใช้กับแผ่นซีดีเนี่ย หัวอ่านจะใช้แสงเลเซอร์เป็นตัวตรวจจับข้อมูลดิจิตอลในแผ่นครับ..

ขอร่ายเทคนิคอันน่าเบื่ออีก 2 ย่อหน้าละกันครับ.. :]
รูปแบบดิจิตอลของเสียงเพลง หรือที่เรียกกันว่า ไฟล์ออดิโอ ในแผ่นซีดีนั้น เกิดจากการแปลง
ข้อมูลเสียงเพลงที่เราได้ยินกันในอากาศ ซึ่งเป็นคลื่นเสียงแบบอนาล็อก มาเป็นดิจิตอล1
โดยผ่านกระบวนการนู่นนี่นั่น (หาอ่านได้ตามตำราเรียนต่างๆ หัวข้อ Analog-to-Digital ครับ)
เสร็จสมอารมณ์หมาย ออกมาเป็นไฟล์ออดิโอลักษณะ "PCM, 16-bit, 44.1 kHz, 2 channel"
--> PCM เป็นรูปแบบหนึ่งของการแปลงอนาล็อกเป็นดิจิตอลครับ ..หน้าตาเป็นไงช่างมันเถิด
--> 16-bit แปลว่าข้อมูลเสียง 1 ก้อนจะมีปริมาณ 16 บิต2 (หรือ 2 byte นั่นเองแหละ)
--> 44.1 kHz แปลว่า ในตัวเพลง 1 วินาที จะมีข้อมูลถูกอ่านออกมา 44,100 ก้อน!
--> 2 channel ก็คือระบบ stereo3 หรือว่าสองลำโพงเล่นพร้อมๆ กัน โดยอิสระจากกันนั่นเอง

ลองคูณดูก็จะรู้ว่า 1 วินาทีจะกินเนื้อที่แผ่นไป 88,200 byte (หรือ 86.13 kB)
แต่เพลงของเราเป็นสเตอริโอ คือมี 2 channel หรือว่าสองลำโพงพร้อมๆ กัน (อิสระจากกัน)
จึงทำให้ 1 วินาทีต้องจุข้อมูลมากขึ้นเป็นสองเท่า.. คือ 172.26 kB
(ถึงเพลงจะเป็น mono แต่แผ่นซีดีก็ยังบังคับบันทึกเป็น 2 channel ฝาแฝด มาให้อยู่ดีครับ)
เพราะฉะนั้น.. (อ้า! สรุปซะที) ในซีดี 1 แผ่น ซึ่งจุได้ 700 MB (หรือ 716,800 kB) นั้น
จะบรรจุเพลงได้ความยาวประมาณ 716,800 / 172.26 = 4,161 วินาที = 69 นาที.. นั่นเองครับ!
(ส่วน mini CD จะจุได้แผ่นละประมาณ 20 นาที)

โอเค.. ความเจ๋งของแผ่นซีดีที่แผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ตสู้ไม่ได้ มีมากเหลือเกินครับ
--> เข้าถึงจุดที่ต้องการได้รวดเร็วกว่าเทป เพราะไม่ต้องรอนั่งกรอ (เป็น track เหมือนแผ่นเสียง)
--> เป็นข้อมูลดิจิตอล ดังนั้นจะอ่านไปกี่ร้อยกี่พันเที่ยวก็ไม่มีสึกหรอเหมือนแผ่นเสียง
และไม่มียืดหรือหดเมื่อเจอความร้อนความหนาว เหมือนอย่างเทปคาสเซ็ต
--> มี 1 ด้านที่ไม่ได้ใช้งาน, จึงออกแบบลวดลายหรือรูปภาพลงไปสวยงาม เรียกว่า สกรีนแผ่น

แผ่นซีดีถูกนำมาใช้งานจริงจังทั่วไป (ในโลก) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2528
อัลบั้มเพลงทั้งหลายที่ออกหลังปี 2527-2528 ก็จะมีรูปแบบซีดีด้วย
แต่อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายนัก เพราะราคาแพงกว่าเทปหลายเท่า
ส่วนในวงการเพลงไทยสากล วงดนตรีที่ออกผลงานเป็นแผ่นซีดีวงแรกก็คือ แกรนด์เอ็กซ์..
ผมไม่มีข้อมูลปี พ.ศ. แต่ก็พอกะประมาณได้ว่าคงหลังจาก 2528 ไม่นานนักหรอกครับ
..และแผ่นซีดีเพลง ก็เพิ่งได้รับความนิยมในเมืองไทยตั้งแต่ช่วง 2545 มานี้เอง

ทุกวันนี้ซีดีเพลง (หรือเรียกว่า Audio CD) คือมาตรฐานหลักของการออกอัลบั้มเพลงทั่วโลก
แต่ก็มีหลายบริษัทพยายามพัฒนารูปแบบการบันทึกแผ่นของตัวเอง ให้คมชัดกว่าเดิม
เช่น HDCD4 หรือ XRCD อะไรก็แล้วแต่..
ซึ่งล้วนต้องควักเงินซื้อเครื่องเล่นที่สนับสนุนด้วย มิฉะนั้นจะเล่นไม่ได้ (หรือได้แต่ไม่เจ๋ง)
ดังนั้น ผมว่าสำหรับผู้ฟังทั่วไปอย่างเราๆ แผ่นซีดีเพลงแบบธรรมด๊าธรรมดา ก็แจ๋วแล้ว


-------- ตอนต่อไปก็ยังมีอะไรต้องพร่ำบ่นกันอยู่ในยุคซีดี.. ยังไม่ไปไหนครับ --------
นวย 18/12/2006 02:15 
เชิงอรรถ (ที่ยาวกว่าเนื่อหาอีก)

1 ทุกคนที่ฟังเพลงจากแผ่นซีดีน่าจะเคยเห็นสัญลักษณ์เหล่านี้ผ่านตามาบ้าง
เป็นสัญลักษณ์ตัวหนังสือ 3 ตัวในกรอบสี่เหลี่ยมเรียงกัน
(อยู่ใกล้ๆ กับโลโก้ Compact Disc - Digital Audio, โลโก้ Dolby Digital อ่ะครับ)
..สิบปีให้หลังมานี้ ซีดีทุกแผ่นล้วนเป็นสัญลักษณ์ DDD
ทำให้หลายคนอาจจะไม่นึกสงสัยในความหมายของมัน
หรืออาจจะนึกไปว่าเป็นโลโก้ของอะไรซักอย่างนึงที่คล้ายๆ พวก ดอลบี้ อะไรยังงี้..

ความจริงมันมีสัญลักษณ์ได้หลายแบบครับ ตัวอย่างเช่น DDD, ADD, AAD, AAA
ก็จะขอไขข้อข้องใจให้กระจ่าง ว่ามันหมายความว่าอะไร?
.. ตัวย่อ A คือ analog และ D คือ digital ครับ

สัญลักษณ์ตัวแรก แทนระบบการอัดเสียง (บันทึกเสียง) == recording
(ผู้ควบคุมการบันทึกเสียงก็คือตำแหน่ง sound engineer ครับ)
ตัวที่สอง แทนระบบการผสมเสียง (มิกซ์เสียง) แต่ละเพลง == mixing down
และตัวขวาสุด แทนระบบการทำต้นฉบับ (มาสเตอร์) เพื่อไปปั๊มขาย == mastering
(ผู้ที่ทำการมิกซ์ และมาสเตอริ่ง ในปกก็จะเขียนว่า mixed down : xxxxx
และ mastered by : yyyyy ..บางทีแต่ละเพลงก็มิกซ์โดยคนละคนกัน
แต่ในอัลบั้มหนึ่งๆ ต้องมีคนทำมาสเตอร์เพียงคนเดียวครับ..)

ตัวอย่างวิวัฒนาการที่ดีคืออัลบั้มของ อัสนี-วสันต์
อัลบั้มแรกๆ จะเป็นระบบ AAD ก็หมายความว่า
บันทึกเสียงและผสมเสียงในแบบอนาล็อก (อัดลงเทป, ไม่ใช้อุปกรณ์ดิจิตอลใดๆ ช่วย)
แล้วก็เอาเพลงที่ได้มาเรียงลำดับ, ปรับให้กลมกลืนกัน, ทำแผ่นต้นฉบับ ในระบบดิจิตอล
..ส่วนอัลบั้มถัดๆ มา จะเป็นระบบ ADD นั่นคือพออัดเสร็จก็ถ่ายเท (แปลง) เป็นดิจิตอล
แล้วก็มิกซ์และทำต้นฉบับด้วยข้อมูลดิจิตอลนั้นเลย..
..อัลบั้มตั้งแต่ปี 2536 (รุ้งกินน้ำ) เป็นต้นมาจนปัจจุบัน ล้วนเป็นระบบ DDD
พูดง่ายๆ ก็คือเล่นดนตรี (ทีละชิ้น) และร้อง อัดเสียงลงไปในคอมฯ ตั้งแต่สเต็ปแรกเลย
(ซึ่งแน่นอนว่าระบบดิจิตอลย่อมสะดวกกว่าอนาล็อก ทั้งการตกแต่งแก้ไข, การจัดเก็บ)

----------------------------------------------------------

2 มีซีดีบางอัลบั้มทั้งของไทยและของนอก เขียนกำกับไว้ว่า 24-bit Remaster
ความหมายก็คือเพลงในอัลบั้มนั้นได้ถูกปรับปรุงต้นฉบับ ที่ความละเอียด 24 บิต
(ซึ่งตามทฤษฎีก็ต้องบอกว่าเสียงแจ่มขึ้น, เหมือนจริงขึ้น แน่นอนครับ..)
แต่ไม่ได้แปลว่า "ซีดีแผ่นนั้นเป็นซีดี 24 บิต" นะครับ! ระวังจะไปหลงเข้าใจผิด!
คือเมื่อเขา remaster เสร็จแล้วจะถ่ายลงซีดี ก็ต้องกรองให้เหลือ 16 บิตเช่นเดิมอยู่ดีครับ
เพราะมาตรฐานของซีดีเพลงทั่วไปคือ 16 บิต เท่านั้น
ถ้าแผ่นถูกทำมาเป็น 24 บิตละก็ เครื่องเล่นก็จะอ่านออกมามั่วๆ เน่าๆ ไปเลยครับ

หรือถ้าเอาไปเล่นในคอมฯ ก็ออกมาเป็นเพลงไม่ได้อยู่ดี
เพราะซาวด์การ์ดทั่วไปที่เราใช้กันก็รองรับไม่เกิน 16 บิตครับ..
(ต้องซื้อซาวด์การ์ดแบบทำดนตรีโดยเฉพาะ หรือไม่ก็ต้องยอมแปลงไฟล์ลงเหลือ 16 บิต)

----------------------------------------------------------

3 stereo หมายความว่า เสียง (ดนตรี) ที่เราได้ยินนั้นมีแหล่งกำเนิด 2 แหล่ง
พูดง่ายๆ ก็คือว่า เป็นระบบ 2 ลำโพง (ซ้าย/ขวา หรือย่อว่า L/R) นั่นแหละครับ..
ส่วนเสียงหรือเพลงที่มีแหล่งกำเนิด 1 แหล่ง จะเรียกว่าเป็นระบบ mono ครับ
ถ้าเราเอาเพลงสมัยโบราณที่เป็น mono มาเปิดกับเครื่องเล่นที่มี 2 ลำโพง
เสียงที่ปุ๊ดๆ ออกมาจากแต่ละลำโพง จะมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ
(ถ้าเป็นหูฟังก็เรียกว่า แบ่งกันฟังกับเพื่อน คนละข้างเดียว ก็ได้ยินครบถ้วน)
ผิดกับเพลงปัจจุบันที่บันทึกมาเป็น stereo ซึ่งเสียงจากสองลำโพงจะแตกต่างกัน
(ถ้าฟังเพลงแบบที่เป็นสเตอริโอด้วยหูฟังข้างเดียว จะได้ยินเสียงดนตรีไม่ครบ!)

เราควรฟังเพลงที่เป็น stereo เพราะหูของคนเรามีสองข้างครับ
สมองจะแยกแยะความใกล้ไกลของเสียงที่เกิดขึ้น จากผลต่างเสียงที่หูแต่ละข้างได้ยิน
ถ้าเปิดเพลงฟังโดยนั่งตรงกลางระว่างลำโพง (หรือใช้หูฟัง) ก็จะรู้สึกถึงมิติได้อย่างชัดเจน
ยิ่งถ้าเพลงนั้นมิกซ์เสียงดีๆ ละก็ จะรู้สึกเหมือนว่าได้นั่งดูคนเล่นสดๆ ยังไงยังงั้นเลยครับ!

สำหรับการดูหนังฟังเพลงในยุคนี้ สเตอริโอสองลำโพงเห็นท่าจะไม่พอแล้วครับ
เขาว่ากันว่ามิติยังไม่สมจริง และยังให้เสียงที่อื้ออึงๆ ไม่ละเอียดครบถ้วนถึงใจ
ก็เลยมีการพัฒนาเพิ่มลำโพงกันเข้าไป (หรือเรียกว่าเพิ่มจำนวน channel ของเสียง)
เป็น surround 5.1 (หมายถึงมี 5 ลำโพง ซ้าย/ขวา/กลาง/หลังซ้าย/หลังขวา ..บวกกับ
อีก 1 ซับวูฟเฟอร์ ซึ่งก็คือลำโพงเสียงเบส เสียงทุ้มครืนๆ จนกระจกหน้าต่างสั่นนั่นเอง)
หรือ 6.1 (6 ลำโพง กับ 1 ซับฯ) หรือเท่าที่ได้ยินก็คือไปถึง 7.1 กันไปแล้วเดี๋ยวนี้
(มันเอาไปเพิ่มตรงส่วนไหนของห้องอีกฟะ แค่ 5 ลำโพงก็รอบทิศแล้วยังไม่พออีกเรอะ)

ป.ล. ถึงแม้เครื่องเสียงตามบ้านเรือนทั่วไปในปัจจุบันจะมี 2 ลำโพง
ก็ไม่ได้แปลว่า stereo แปลว่าเครื่องเสียงนะครับ  หลายคนมักจะเข้าใจผิด
(อย่างเช่นประโยคที่ว่า เอาสเตอริโอมาเปิดหน่อยซิ)
ที่จริงโทรทัศน์ที่มีสองลำโพงอิสระจากกัน ก็เรียกว่าเป็นระบบ stereo เช่นกัน

----------------------------------------------------------

4 HDCD เป็นรูปแบบแผ่นซีดีเพลงของ Microsoft (ซึ่งไม่น่าเกี่ยวก็ยังมาเอี่ยวด้วย)
ซึ่งยังถกเถียงกันอยู่เลยครับว่า เป็นมาตรฐานลวงโลกหรือเปล่า!
เพราะเขาบอกว่าเป็นแผ่นที่จุเพลง (เข้ารหัสโดยวิธีลับเฉพาะ) มาในแบบ 20 บิต
คือถ้าเล่นในเครื่องเล่นที่มีโลโก้ HDCD แปะไว้ จะได้ข้อมูลเสียงออกมา 20 บิต
แต่ถ้าเล่นในเครื่องทั่วๆ ไป ก็ยังฟังได้ แต่จะได้ข้อมูลเพียง 16 บิตเหมือนปกติ..
หลายคนบอกว่า HDCD มันมีแต่ชื่อ.. ไม่ได้เป็น 20 บิตจริง เพราะเราไม่มีวิธีพิสูจน์เลย

ซึ่งผมก็อดสงสัยไปด้วยไม่ได้.. ก็เลยทดลองจากแผ่นที่บังเอิญมีอยู่แผ่นนึง..
--> เล่นในเครื่องเล่นซีดีได้ปกติดีไม่มีปัญหา, เอามาเล่นใน winamp ก็ปกติธรรมดา
--> แต่ถ้าเล่นใน windows media player จะมีโลโก้ HDCD โผล่มาบนจอด้วย
--> ทดลอง rip จากโปรแกรมต่างๆ ก็ได้ออกมาเป็นไฟล์ 16-bit เหมือนแผ่นอื่นทั่วไป
(ถ้าเอาไฟล์ที่ rip มานี้ไปทำซีดีเพลง ก็จะกลายเป็นแผ่น 16 บิต ธรรมดาๆ)
--> แต่ถ้าใช้วิธี clone แผ่น, จะได้แผ่น HDCD ออกมาเหมือนกันด้วย..

เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่า Microsoft จะหลอกเรา เช่น ใส่รหัสลงไปในแผ่น
ซึ่งถ้าโปรแกรม (ของบริษัทตัวเอง) ไปเจอรหัสนี้เข้าก็ให้แสดงโลโก้ HDCD ก็แค่นั้น..
นี่อาจเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า โดยไม่ต้องเหนื่อยพัฒนาอะไรเลย  :]

----------------------------------------------------------
นวย 18/12/2006 02:16  [ 1 ] 
ขยันเขียนมากๆ ค่ะ
ข้าน้อยขอคารวะ

>>   โอเค.. ความเจ๋งของแผ่นซีดีที่แผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ตสู้ไม่ได้ มีมากเหลือเกินครับ
>>   --> เข้าถึงจุดที่ต้องการได้รวดเร็วกว่าเทป เพราะไม่ต้องรอนั่งกรอ (เป็น track เหมือนแผ่นเสียง)

นอกจากจะเจ๋งแล้ว ยังเปลี่ยนพฤติกรรมคนฟังไปอย่างมหาศาลด้วยนะคะ
เพราะมันทำให้คนส่วนใหญ่เลือกฟังเพลงที่ฮิต หรือเพลงที่ตัวเองชอบอยู่ไม่กี่เพลง
แล้วก็กลายเป็นเหตุผลให้ ไม่อยากซื้อของจริง เพราะฟังอยู่ไม่กี่เพลง ไม่คุ้ม
ค่ายเพลงก็เลยทำเพลงมาขายแบบเอาดัง เอาดี แค่ชุดละ 1-2 เพลง
...สองอย่างหลังนี่ไม่รู้อะไรเกิดก่อนกันแน่ ? แต่ก็พากันฉุดลากวงการเพลงไปลงเหวอยู่ตอนนี้...

ตอนนี้เรา(ส่วนใหญ่ในบ้านเมืองนี้) เลย load เพลงหรือซื้อแผ่นผีมาฟังกันอย่างหน้าชื่นตาบาน
เพราะไม่รู้จะซื้อมาทำไม ในเมื่อฟังอยู่แค่เพลงสองเพลง

วัฒนธรรมการเลือกเพลงฟังใน CD ทำให้เราเสียโอกาสฟังเพลงที่เค้าไม่โปรโมท
ซึ่ง... โดยส่วนตัวหนูพบว่า เพลงไม่ดังบางเพลง มันเพราะกว่าเพลงโปรโมทอีกแฮะ
Shauฯ 18/12/2006 23:08  [ 2 ] 
>> นอกจากจะเจ๋งแล้ว ยังเปลี่ยนพฤติกรรมคนฟังไปอย่างมหาศาลด้วยนะคะ
>> เพราะมันทำให้คนส่วนใหญ่เลือกฟังเพลงที่ฮิต หรือเพลงที่ตัวเองชอบอยู่ไม่กี่เพลง

พฤติกรรม "เลือกฟังเพลงที่ฮิต" ก็น่าหนักใจอยู่
แต่พี่นวยกำลังกลัวพฤติกรรม "ฟังเพลงติดตัวไม่เลือกที่" มากกว่า..
เพราะมันนำพาให้เราก้าวเข้าสู่ยุคที่ 4 (และวิกฤตค่ายเพลงเมืองไทย) โดยฉับพลัน!
ยุคที่ 4 ที่ว่าคือ ยุค MP3 ครองเมืองนั่นแหละครับ..
อันนี้ค่อยมาว่ากัน (สงสัยจะได้ "ว่า" จริงๆ) ในวันที่มีเวลาเขียน :]

>> โดยส่วนตัวหนูพบว่า เพลงไม่ดังบางเพลง มันเพราะกว่าเพลงโปรโมทอีกแฮะ

จริงครับ.. และที่แย่สุดๆ (ซึ่งเราก็ชอบบ่นถึงเรื่องนี้บ่อยๆ อยู่แล้ว) คือ
ความคิดของคนส่วนใหญ่ที่ว่า "ไม่อยากฟังเพลงที่ไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินมาก่อน"
แล้วเพลงดีๆ ที่ไม่มีงบโปรโมท ถ้าไม่ลองฟังมันจะไปเคยได้ยินเองจากไหนล่ะฟะ..
ถ้าจะคิดแต่แบบนั้น ก็ไม่พ้นแกรมมี่อาร์เอส (โดยเฉพาะเพลงงั้นๆ ทำลวกๆ) เอาไปกินอีกตามเคย..
นวย 19/12/2006 11:08  [ 3 ] 
นอกจากมันจะทำให้เราเข้าสู่ยุค(มืด ?)ที่ 4 แล้ว
มันยังทำให้คนกลายเป็นอะไรซักอย่างที่ต้องพึ่งพา 'อะไรซักอย่าง' มา 'กรอกหู' ตลอดเวลา
เดินไปไหนมาไหนก็เห็นแต่คนมีสายห้อยออกมาจากหูตลอดเวลา
ที่แย่กว่าคือ บางคนนอกจากจะมีสายแล้วก็ยังมีเสียงออกมาด้วย
(เก่งจัง ไม่หูแตกบ้างรึไง ขนาดหนูอยู่ไกลๆ ยังว่ามันดังเลย -"-)

ก็เลยเสียทั้งวงการเพลงทั้งมารยาทเลยคราวนี้ :P
Shauฯ 20/12/2006 01:55  [ 4 ] 

>> ส่วนหนึ่งจากงานเขียนของ ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ (pairat@matichon.co.th)
>> http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?
>> s_tag=01tec10250850&day=2007-08-25&sectionid=0143

>> ซีดี เป็นผลงานการคิดค้นร่วมกันระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์
>> คือ รอยัล ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ เอ็นวี ของเนเธอร์แลนด์ และโซนี่ คอร์ป. แห่งญี่ปุ่น
>> ซีดีแผ่นแรกผลิตออกมาจากโรงงานผลิตใกล้เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี
>> เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2525

>> ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผมก็คือ ซีดีนี้แนวความคิดเริ่มแรกนั้นถูกพัฒนาขึ้นมา
>> เพื่อทดแทน "แผ่นเสียง" แต่มันลงเอยกลายเป็นฟอร์แมตเก็บข้อมูลดิจิตอล
>> ที่ได้รับความนิยมสูงและแพร่หลายมากที่สุดฟอร์แมตหนึ่ง
>> ทำให้แผ่น 12 ซม.แผ่นนี้ ไม่เพียงแค่ปฏิวัติวงการดนตรีเท่านั้น
>> แต่ยังลามไปถึงแวดวงคอมพิวเตอร์และไอทีทั้งหลายอีกด้วย

>> ซีดีถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่แทนเทปคาสเซ็ต และแผ่นเสียงไวนิล
>> สำหรับบันทึกเสียงเพลงเสียงดนตรีเป็นหลัก
>> ซีดีแผ่นแรกที่ผลิตออกมานั้นเป็นซีดีเพลง อัลไพน์ซิมโฟนี่ ของริชาร์ด สเตราส์
>> ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีความสำคัญไม่น้อย เพราะมันเป็นตัวกำหนดขนาดของแผ่นซีดี
>> ให้อยู่ในขนาด 12 ซม. อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

>> ปีเตอร์ เครเมอร์ อดีตวิศวกรในห้องแล็บออพติคอลของฟิลิปส์ ที่เป็นหนึ่งในทีมคิดค้นซีดี
>> บอกว่า มีการถกกันยาวนานมากระหว่างทีมวิศวกรของฟิลิปส์และโซนี่ ในเรื่องนี้
>> ลงเอยทำให้ต้องมีการขยายขนาดของซีดีเพิ่มขึ้น จากเดิมที่บันทึกเสียงเพลงได้ 1 ชั่วโมง
>> เป็น 74 นาที เพื่อให้บรรจุซิมโฟนี่หมายเลข 9 ของบีโธเฟ่น ลงได้ทั้งเพลงในแผ่นเดียว
นวย 29/08/2007 11:36  [ 5 ] 
สามารถใส่ html tag โดยใช้เครื่องหมาย { } แทน < >      
ความเห็น : 
จาก : : รหัส
(อีเมล/เว็บไซต์) : อัพโหลดรูป/ไฟล์
ถ้าไม่มีรหัสประจำตัว กรุณาใส่ "เลขหนึ่งสี่ตัว" ด้วยครับ