0316
2/7/46 .. แปลกใจในศิลปะกะเด็กวิทย์
แสดงทั้งหมด

4/7/46 .. แค่เข้าใจไม่พอใช้สอบตอบ: 0, อ่าน: 1235

หลังจากพักชมสิ่งที่น่าสนใจเรียบร้อยแล้ว
ก็ขอต้อนรับกลับเข้าสู่รายการพี่นวยใช้หัวคิดนะครับ
กับคำถามที่น้องๆ ถามกันเข้ามามากเหลือเกินประมาณ 2 สาย
พี่ขา ทำไมหนูอ่านหนังสือเข้าใจแจ่มแจ้งทุกเรื่องแล้วยังทำข้อสอบไม่ได้
ในขณะที่เพื่อนไม่ค่อยอ่านอะไรเลยแต่ได้คะแนนมากกว่ากันเห็นๆ

น้องจ๋า อย่าไปกังวลกับคะแนนเลยนะ มันเป็นของนอกกาย
เอาแค่พอมีพอใช้ เรี่ยๆ มีน ไว้ก่อน ถือเป็นอันใช้ได้
โบราณเขาว่า มีคะแนนนับเป็นน้อง แต่คนมีของ นับเป็นพี่ นะจ๊ะ
แสดงว่ายังมีอะไรน่าให้ความสำคัญมากกว่าคะแนนในตอนนี้อีก
สงสัยว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจนี่ล่ะจ่ะ
คะแนนตอนนี้ได้มากน้อยไม่ต้องไปกังวล เดี๋ยวได้เรียนอีกเยอะ
ถ้าเราค่อยๆ เก็บความเข้าใจซะอย่างนะ
อีกหน่อยสอบอีกทีจะเอาคะแนนเท่าไหร่ก็ไหว
แต่ถ้ามั่วๆ ไปแบบไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วดันฟลุ้คได้คะแนนเยอะ
อีกหน่อยสอบเรื่องนี้ใหม่ก็อ่านหนังสือปวดหัวกันอีกรอบ
ได้คะแนนเยอะนิดหรือน้อยหน่อยในตอนนี้อ่ะนะ ถึงปีหน้าก็ลืมแล้ว..

ยังไม่ได้ตอบคำถามเลยว่า ทำไมอ่านเข้าใจแล้วทำข้อสอบไม่ได้
หลังจากการวิเคราะห์วิจัยร่วมกับสถาบันคิงคองเหลด ได้ผลว่า
เหตุที่เข้าใจแล้วสอบไม่ได้ดีเสียที เพราะน้องๆ ยังขาดสิ่งหนึ่งอยู่
และสิ่งนั้นเรียกว่า ความคุ้นเคย ครับ

พอนึกออกไหมครับ ถ้านึกไม่ออกจะขอยกสถานการณ์ให้ฟัง
นายเอ ตั้งใจอ่านหนังสือมากๆ เลย ฟังอาจารย์และจดตามยิกๆ
ไม่เคยพลาดซักประโยค เพราะเกรงว่าจะออกสอบ
นายเอ อ่านหนังสือจนจำทุกคำพูดได้ขึ้นใจ แทบจะเขียนหนังสือขายได้
แต่แล้ว พอเข้าห้องสอบ อ่านข้อสอบปั๊บ นายเอ กลับอึ้ง และคิดไม่ออก
ว่าจะเอาความรู้ส่วนไหนที่อัดมาในสมอง ไปใช้แก้ปัญหาข้อนั้นดี
นายเอก็ต้องเลียบๆ เคียงๆ ตอบไป และสุดท้ายนายเอทำคะแนนได้ไม่ดี
ขณะที่นายบี ตอนเรียนก็ฟังมั่งไม่ฟังมั่ง แถมยังโดดบ่อย
ตอนสอบนายบีก็ไม่ค่อยอ่านหนังสือ เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง
แต่นายบีใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
คิดต่อไปว่าเรื่องที่เรียนนั้นมันมีที่มายังไง ทำไมต้องมี
แล้วมันเอาไปใช้อะไรยังไง หรือถ้าเปลี่ยนตรงนี้ไปนิดจะเกิดอะไรขึ้น
เรียกว่าคิดเอาสนุกๆ เรื่อยเปื่อย..
นายบีหารู้ไม่ ว่าการคิดเรื่อยเปื่อยกับสิ่งที่เรียนนั้น มันก่อผลให้ตนเอง
ทำให้นายบีคุ้นเคย ชนิดที่ว่ามีใครพูดอะไรเกี่ยวๆ กับเรื่องนั้นแล้ว
ความรู้ทุกอย่างที่จำได้จะพรั่งพรูออกมาหมด..
และนายบีก็ทำคะแนนได้ดีกว่านายเอ

สมมติมีคนบอกเราทุกวันว่า
วงบอยไทย เป็นวงที่เล่นดนตรีไทยผสมสากล ในแนวคึกคักๆ นะ
มีทั้งระนาด ขลุ่ย ฆ้อง แต่ก็มีเบส คีย์บอร์ด กลอง ด้วยนะ
แน่นอน ถ้าใครมาถามถึงวงบอยไทย คุณก็บอกได้ว่าเป็นยังไง
แต่คุณรู้แค่เพียงเท่านั้น.. ถ้าคุณไม่ได้ลองฟังเอง คุณก็ยังไม่คุ้นเคย..
ถ้าเกิดคุณเดินไปเจอชาวต่างชาติมาถามคุณว่า
เขาอยากฟังเพลงไทย ช่วยแนะนำอัลบั้มให้ลองฟังหน่อยได้ไหม..
คุณอาจจะตอบไปว่า บอย โกสิยพงษ์ สิ.. เพราะทำดนตรีได้สากลดี คงจะชอบ
หรือบางคนอาจจะ เอ๊ะคล้ายๆ ว่ามีวงแนวดนตรีไทยผสมสากล แต่นึกชื่อไม่ออก..
บางคนก็สามารถแนะนำวงบอยไทยได้เลยทันที เพราะเคยฟังมาบ้าง คุ้นอยู่
.. ปัญหาคือ สมมติชาวต่างชาติคนนั้นมีคะแนนให้คุณ และเขาดันชอบบอยไทย
ฉะนั้น คนแรกอาจจะได้ 5 คะแนน คนที่สอง 7 คะแนน คนที่สาม 10 คะแนน
นี่ก็คือตัวอย่างของการงัดความคุ้นเคยในสิ่งๆ หนึ่ง มาใช้แก้ปัญหา..

การที่เราจะตอบปัญหาในข้อสอบได้ดี
นอกจากเราจะเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดแล้ว
เรายังต้องคุ้นเคยกับมันด้วย
ชนิดที่ว่างัดเอามาตอบได้ทันที
ไม่ใช่ออกจากห้องสอบแล้วเพิ่งมานึกได้
ว่าเออหนอทำไมไม่ตอบไปว่างั้นว่างี้..
แถมความคุ้นเคยยังช่วยให้อ่านหนังสือได้เร็วขึ้นด้วย
ความคุ้นเคยสร้างได้หลายวิธี
1. ทดลองทำ หรือเห็นของจริง จะช่วยให้คุ้นเคยได้บ้าง
2. นั่งคิดเรื่อยเปื่อย หาที่มา หรือเอาไปผูกกับเรื่องเก่าๆ ที่รู้อยู่แล้ว
3. คิดถึงประโยชน์ของมันว่าเอาไปใช้ทำอะไร ของทุกอย่างน่าจะใช้งานได้
4. ลองทำข้อสอบเก่าๆ ดูก่อน.. อันนี้ก็ช่วยให้นึกได้ว่าเราหลงลืมอะไรไป

อ้า.. นั่นแหละครับ ทั้งหมดของคำตอบเรื่องนี้
ตอนนี้พักชมสิ่งที่น่าสนใจครับ..
นวย 09/07/2003 12:57 
สามารถใส่ html tag โดยใช้เครื่องหมาย { } แทน < >      
ความเห็น : 
จาก : : รหัส
(อีเมล/เว็บไซต์) : อัพโหลดรูป/ไฟล์
ถ้าไม่มีรหัสประจำตัว กรุณาใส่ "เลขหนึ่งสี่ตัว" ด้วยครับ